เมนู

สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระ
นาคเสนผู้ปรีชาญาณ จะโทษเอาแผ่นดินจะพาลเอาแผ่นดินอย่างไรได้ โทษที่บุรุษนั้นใจเร็วเร่ง
ไปด่วนวิ่งไป จึงสิ้นกำลังล้าลง เป็นง่อยเปลี้ยเพลียไป
พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า ความข้อนี้ฉันใดก็ดี มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสม
ภาร พระบรมครูอดอาหารเสวยพระอาหารน้อย จึงถอยกำลังไป พาให้เป็นโทษเหมือนบุรุษผู้
เดินทางฉะนั้น
อนึ่งเล่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ปานดุจบุรุษผู้หนึ่งนุ่งผ้าสาฎก
เศร้าหมองมลทินติดอยู่ บุรุษผู้นั้นหาซักอุทกังไม่ ผ้านั้นก็เศร้าหมองนัก จะไปโทษเอาอุทกังว่า
อุทกังกระทำให้ผ้าเศร้าหมองไปหรือกระไร นะบพิตรพระราชสมภาร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระ
นาคเสนผู้ปรีชาญาณ บุรุษชายนั้นเป็นพาลเกียจคร้านชั่วนักหนา ผ้านุ่งเศร้าหมองเป็นมลทินก็
หาซักให้สิ้นราคีไม่ จะโทษอุทกังกระไรเล่า
พระนาคเสนจึงมีเถรวาจารว่า มหราช ขอถวายพระพร ที่พระโพธิสัตว์เจ้าไม่เสวย
พระอาหาร จะโทษเอามหาปธานทางปฏิบัติกระไรได้ เป็นโทษที่ไม่เสวยอาหารให้เป็นปรกติ
เหมือนบุรุษมีผ้าเศร้าหมองมลทินไม่ซักน้ำนั้น ขอถวายพระพร
ฝ่ายว่าสมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี ก็มีน้ำพระทัยชื่นบานหรรษาสิ้นสุดพระวิมัติ
กังขา ซ้องสาธุการแก่พระนาคเสนวิสุทธิสงฆ์องค์อรหันต์ ก็มีในกาลนั้น
ปฏิปทาโทสปัญหา คำรบ 1 จบเพียงนี้

นิปปปัญจปัญหา ที่ 2


สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสถามปัญหาสืบไปเล่าว่า ภนฺเต
นาคเสน
ข้าแต่พระนาคเสนผู้ปรีชาญาณ เอตํ วจนํ อันว่าคำอันนี้ สมเด็จพระพิชิตมารโมลีเจ้า
มีพระพุทธเจ้าฎีกาตรัสพระสัทธรรมเทศนาไว้ดังนี้ว่า ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลายผู้เห็นภัยในวัฏ-
สงสาร ตุมฺเห อันว่าท่านทั้งหลายทั้งปวง นิปฺปปญฺจรติโน จงมีนิปปปัญจธรรมและกำหนัดยินดี
ในนิปปปัญจธรรมนั้นอยู่ให้สำราญ นี่แหละสมเด็จพระโลกนาถศาสดาจารย์ตรัสว่า นิปปปัญจ-
ธรรม โยมไม่เข้าใจว่า นิปปปัญจธรรมนั้นอย่างไร

พระนาคเสนผู้เฉลิมปราชญ์จึงวิสัชนาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสม
ภาร สมเด็จพระบรมโลกุตตมาจารย์ตรัสว่า นิปปปัญจธรรมนั้น คือพระโสดาปัตติผล พระสกิ-
ทาคามิผล พระอนาคตมิผล พระอรหัตผล จงทรงทราบพระทัยด้วยประการดังนี้
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้า
แต่พระนาคเสนผู้ปรีชาญาณ ถ้าดังนั้น พระภิกษุทั้งหายเหล่านี้จะต้องเรียนนวังคสัตถุศาสนา
คำสั่งสอนของพระศาสดามีองค์ 9 ประการ คือ สุตตะ เคยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติ-
วุตตกะ ชาฏกะ อัพภูตธัมมะ เวทัลละ และให้ทานกระทำการบูชาเพื่อประโยชน์อะไรเล่า จะมิ
ชื่อว่าภิกษุเหล่านั้นกระทำกรรมที่พระบรมครูเจ้าตรัสห้ามไว้หรือ
พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรผู้ประเสริฐ ภิกษุทั้ง
หลายต้องมาเล่าเรียนศึกษาและกระทำอนวัชกิจเช่นนั้น ก็กระทำเพื่อได้บรรลุนิปปปัญจธรรม
ด้วยกันทุกรูป มหาราช ขอถวายพระพร สภาวปริสุทฺธา บุคคลที่บริสุทธิ์โดยสภาวพอบรม
วาสนาบารมีให้แก่กล้าแล้ว จักได้นิปปปัญจธรรม เป็นผู้สิ้นความเนิ่นช้า กล่าวคือได้บรรลุ
มรรคผลในชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น ภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชนอยู่จะได้นิปปปัญจธรรม ก็ด้วยตั้งใจ
พากเพียรเล่าเรียนในนวังคสัตถุศาสนาและมากระทำอนวัชชกิจเหล่านี้ ค่อย ๆ พยายามไปที
ละเล็กละน้อย จนกว่าจะสำเร็จ ความข้อนี้อาตมาจะขอถวายวิสัชนาโดยอุปมา มหาราช
ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปานดุจชาวนา 2 คน คนหนึ่งหว่านพืชลงในนา
แล้ว มิพักต้องใช้กำลังและความเพียรเที่ยวตัดต้นไม้และเรียวหนามมากระทำรั้วกั้นนานั้น เขา
ก็ได้ผลแห่งธัญชาติ อีกคนหนึ่งหว่านพืชลงในนาแล้ว ต้องเที่ยวตัดต้นไม้กิ่งไม้และเรียวหนาม
มากระทำรั้วกั้นอันตราย จึงได้ผลแห่งธัญชาติ ยถา มีครุวนาฉันใด บุคคลที่มีวาสนาหนหลัง
ได้กระทำมาโดยบริบูรณ์แล้วนั้น ครั้นได้ฟังพระสัทธรรมเทศนามิช้าก็ได้มรรค เมื่อได้มรรค
แล้วต่อไปอีกขณะจิตเดียวก็ได้ผล ส่วนภิกษุที่เป็นปุถุชนนั้น เมื่อกำหนัดยินดีอยากได้บรรลุ
นิปปปัญจธรรมคืออริยผล ต้องพากเพียรเล่าเรียนซึ่งนวังคสัตถุศาสนานั้นโดยลำดับจึงจะสำเร็จ
ได้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น
ประการหนึ่ง บพิตรพระราชสมภารเจ้าจงทรงสดับซึ่งอุปมาอีกอย่างหนึ่งเล่า เปรียบ
ด้วยบุรุษ 2 คน เข้าไปป่าเพื่อว่าจะแสวงหาผลาผล จึงไปปะไม้ต้นหนึ่งทรงผลพุ่มพวง ดิบห่าม
สุกสารพัดที่จะมีอยู่บนต้น บุรุษชายคนหนึ่งมีกำลังวังชา บุรุษชายคนหนึ่งหากำลังมิได้ อ้อน
แอ้นนักหนา ฝ่ายบุรุษที่มีกำลังวังชากล้านั้น ก็ถกเขมนโจงกระเบนให้มั่นโดดขึ้นไปบนต้นไม้
ฉวยเอาผลไม้ได้ก่อน บุรุษที่อ้อนแอ้นหากำลังมิได้ ก็หาไม้ทำพะโอง ตัดพะโองได้เอาพาดต้น
ไม้นั้นขึ้นไปตามพะโองได้ผลไม้เหมือนกัน แต่ต่างกันด้วยเร็วกับช้า ฉันใดก็ดี บุคคลที่มีบุพพ-

วาสนาได้กระทำมาเป็นสภาวะบริสุทธิ์ กับพระภิกษุปุถุชนนั้นก็ได้พระอริยผลเหมือนกัน
แต่ทว่าเร็วกับช้า บุคคลที่มีวาสนาเป็นสภาวะบริสุทธิ์ได้ผลก่อน ขอถวายพระพร
ประการหนึ่ง บพิตรพระราชสมภารจงทรงพระสวนาการฟังซึ่งอุปมาให้ภิยโยภาวะประ
หลาดไปอีกอย่างหนึ่งเล่า เปรียบดังบุรุษชาย 2 คนจะกระทำกิจธุระสักอย่างหนึ่งอย่างใด คนหนึ่ง
เป็นคนเข้าใจในกิจธุระนั้นก็กระทำให้สำเร็จไปได้เองแต่ผู้เดียว อีกคนหนึ่งไม่รู้จักทำ ต้องจ้าง
เขาด้วยทรัพย์จึงทำได้ แต่ก็ทำให้สำเร็จได้เหมือนกัน ผิดกันที่ช้ากับเร็วเท่านั้น ความนี้เปรียบ
ฉันใด ท่านผู้มีบุพพวาสนาได้กระทำมาเป็นสภาวะบริสุทธิ์แล้ว กับพระภิกษุที่เป็นปุถุชนนั้น ก็
สำเร็จพระอริยผลเหมือนกันแล แต่ทว่าช้ากับเร็ว ที่บุคคลมีบุพพวาสนานั้นจะได้วสีในอภิญญา
6 นั้น ขณะจิตเดียวก็ได้โดยเร็วพลัน จะได้ช้าอยู่จนสองขณะจิตหามิได้ ส่วนพระภิกษุที่เป็น
ปุถุชนนั้นช้าอยู่ จะต้องพากเพียรเล่าเรียนไปโดยลำดับก่อน กว่าวาสนาจะแก่กล้า เหตุฉะนี้
สมเด็จพระบรมครูสัพพัญญูผู้ประเสริฐ จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสให้โอวาทคำสั่งสองพระภิกษุ
ืทั้งหลาย ให้มั่นหมายกำหนัดยินดีในฝ่ายที่จะได้ซึ่งนิปปปัญจธรรมคือพระอริยผลนั้น การที่
พระองค์มีพระพุทธฎีกาเช่นนั้น จะนับว่าเป็นอันพระองค์ตรัสห้ามปราม มิให้พระภิกษุเล่าเรียน
บอกกล่าวพระไตรปิฎกสืบไปหามิได้ บพิตรจงทราบดังวิสัชนามานี้ ขอถวายพระพร
พระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี ได้ทรงสดับข้อวิสัชนาปัญหานี้ ท้าวเธอทรงเลื่อมใสยินดี
ด้วยถ้อยคำพระนาคเสนผู้เฉลิมปราชญ์ ก็ตรัสประภาษสาธุการดุจนัยหนหลัง
นิปปปัญจปัญหา คำรบ 2 จบเพียงนี้

คีหิอรหัตตปัญหา ที่ 3


สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์ขัตติยาธิราชผู้มีบุพพวาสนาจะได้สำเร็จแก่พระปวราม-
ฤตยาธิคตธรรมอันประเสริฐคือจะได้พระนิพพานในปัจจุบัน จึงมีพระราชโองการถามปัญหา
พระนาคเสนสืบไปเล่าว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าพระนาคเสนเถระผู้มั่นในอริยศีล
สังวรวินัย ตุมฺเห ภณถ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้กับโยมแต่เดิมว่า ฆราวาสได้พระอรหัตนั้นมีคติ 2
ประการ คือจะต้องบวชเสียในวันอันได้พระอรหัตนั้นประการ 1 ข้อหนึ่งบุคคลเป็นฆราวาส
ได้สำเร็จพระอรหัตแล้ว ไม่บวชเสียในวันนี้จะเข้าสู่พระนิพพานในวันที่ได้พระอรหันต์นั้ประการ
1 เป็นคติสิริเป็น 2 ประการแน่ ดังนี้หรือกระไร